สุขภาพและออกกำลังกาย

โรคฉี่หนู ภัยร้ายที่มาในหน้าฝน

closeup two vole mouse stands and looks up. view on back side. isolated on white

สถานการณ์น้ำท่วมนั้นเกิดขึ้นในประเทศไทยบ่อยครั้ง สร้างความลำบากให้กับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้ชีวิต การขับถ่าย การทำมาหากิน แถมยังสร้างความเสียหายนับไม่ถ้วน เช่น ข้าวของเสียหาย บ้านชำรุด เกิดการทรุดตัว ให้กับชาวบ้านที่อยู่อาศัยแถบอีสานในหลายจังหวัดนั้นได้รับผลกระทบทั้งสิ้น

นอกจากนั้นสิ่งที่ปนเปื้อนมากับน้ำท่วมก็สร้างความเสียหายให้กับสุขภาพของผู้ประสบภัย ทำให้เกิดโรคต่างๆ ที่มาพร้อมกับน้ำท่วมขัง เช่น โรคน้ำกัดเท้า โรคไข้หวัด โรคปอดบวม โรคตาแดง โรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร ท้องร่วง และโรคที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตอย่างโรคฉี่หนู

ซาร่าเลยจะมาเตือนให้ทุกคนได้รู้จักกับโรคร้ายแรงอย่าง “โรคฉี่หนู” มาให้ทุกคนได้รู้จัก และระมัดระวังตัวกันในช่วงหน้าฝนที่มีน้ำท่วมกันค่ะ

โรคฉี่หนู หรือเล็ปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์ที่เป็นพาหะ เช่น หนู สุกร โค กระบือ สุนัข ม้า และแรคคูน ปัสสาวะสัตว์ที่ปนเปื้อนมาในน้ำ ดินที่เปียก หรือพืชผักต่าง ๆ ก็เป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางอ้อมได้

เนื่องจากแบคทีเรียชนิดนี้สามารถไชเข้าสู่ร่างกายได้ทางเยื่อบุตา ปาก จมูกของคน อาจเกิดจากการติดต่อผ่านการโดนบาดแผล รอยขีดข่วน รอยถลอก หรือผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานาน นอกจากนั้นการดื่มน้ำหรือกินอาหารที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนก็ทำให้เป็นโรคฉี่หนูนี้ได้ด้วยนะคะ

อาการของโรคฉี่หนู

ระยะแรก 4-7 วัน จะมีอาการไข้สูงแบบทันที หนาวสั่น ปวดศีรษะรุนแรง ปวดเมื่อยบริเวณกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะกล้ามเนื้อหลัง น่อง และต้นคอ มีอาการตาแดง ปวดเบ้าตา ไม่สามารถสู้แสงได้ ตัวเหลือง มีอาการคอแข็ง เจ็บบริเวณช่องท้อง ความดันโลหิตต่ำ บางรายมีอาการเบื่ออาหาร ท้องร่วงร่วมด้วย

ระยะที่สอง ผู้ป่วยจะมีไข้ลดลงประมาณ 1-2 วัน แล้วไข้จะกลับมาขึ้นอีก จะมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน แต่อาการจะรุนแรงน้อยกว่าระยะแรก เจ็บบริเวณหน้าอก มือ เท้า หรือข้อเท้าบวม หายใจหอบเหนื่อย หัวใจเต้นผิดจังหวะ ไอเป็นเลือด เจ็บกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง โดยเฉพาะบริเวณน่อง และโคนขา

บางครั้งอาการของโรคฉี่หนู อาจมีอาการตาแดงหรือตามีเลือดไหลออกมาเนื่องจากม่านตาอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ตับและไตทำงานผิดปกติ จะมีอาการประมาณ 30 วัน มีเลือดออกบริเวณส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผิวหนัง หรืออวัยวะต่างๆ ในร่างกาย เพราะอวัยวะภายใน ระบบไหลเวียนเลือด จะถูกทำลายจากตัวเชื้อโรค หากมีอาการดังกล่าวควรไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุดค่ะ

ผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคฉี่หนู
– ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ ปศุสัตว์ หรือสัตวแพทย์
– ชาวนา ชาวสวน เกษตรกร ชาวประมงที่ทำงานบริเวณแหล่งน้ำ
– ผู้ที่ทำงานใช้แรงงานเกี่ยวกับท่อระบายน้ำ เหมืองแร่ โรงฆ่าสัตว์
– พนักงานทำความสะอาด พนักงานเก็บขยะ หรือพนักงานกำจัดหนู
– ทหารตำรวจที่ปฏิบัติงานตามป่าเขา หรือในพื้นที่เปียกชื้น
– ประชาชนที่อยู่ในบริเวณเขตน้ำท่วม หรืออยู่บริเวณที่มีหนูชุกชุม

วิธีป้องกันโรคฉี่หนู
– ทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคฉี่หนู เรียนรู้ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร สังเกตอาการของตัวเอง และคนรอบข้างเมื่อเกิดอาการป่วย
– หลีกเลี่ยงการเดินแช่น้ำ ว่าน้ำ หรือลุยน้ำท่วมขังด้วยเท้าเปล่า หรือแค่รองเท้าแตะเป็นเวลานาน เพราะน้ำอาจปนเปื้อนเชื้อปัสสาวะจากสัตว์นำโรค หรือหากจำเป็นจริงๆที่จะต้องเดินลุยน้ำ ควรใส่รองเท้าบูทเป็นการป้องกันเบื้องต้น
– หากทำงานเกี่ยวกับแหล่งน้ำ โคลน หรือดินทราย นอกจากใส่ชุดที่รัดกุมแล้ว ควรใส่รองเท้าบูทและถุงมือยางด้วย
– กำจัดหนูให้หมดจากบริเวณที่อยู่อาศัย บริเวณชนบท สถานที่ทำงาน หรือแหล่งท้องเที่ยว เพราะหนูเป็นพาหะนำโรค
– รักษาความสะอาดในบริเวณที่อยู่อาศัยอยู่เสมอ โดยเฉพาะห้องครัวที่มีเศษขยะ เป็นแหล่งอาหารชั้นดีของหนู กำจัดขยะบริเวณนั้นให้หมด
– หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ที่เป็นพาหะ ของโรคฉี่หนู ไม่ว่าจะเป็นหนู สุกร โค กระบือ สุนัข ม้า และแรคคูน
– ฉีดวัคซีนป้องกันโรคแก่ปศุสัตว์ (เช่น สุกร โค กระบือ ม้า) และสัตว์เลี้ยง (เช่น สุนัข) จะช่วยป้องกันโรคได้ แต่ป้องกันการติดเชื้อและการขับเชื้อทางปัสสาวะไม่ได้ วัคซีนที่ต้องใช้มีซีโรวาร์ที่พบมากในท้องถิ่นนั้น
– เก็บอาหารให้มิดชิดด้วยการซีล ปิดฝาไว้ หรือนำไปเก็บในตู้เย็น
– กินอาหารปรุงสุกใหม่ โดยวัตถุดิบอาหารนั้นจะต้องทำความสะอาด ไม่กินอาหารที่วางค้างคืนไว้ โดยที่ไม่ได้มีภาชนะปิด ป้องกันการติดโรคจากหนู
– รีบอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายให้แห้ง หากลงไปแช่ หรือเดินในน้ำที่คิดว่าเสี่ยงที่จะมีเชื้อโรคปนเปื้อน
– หากมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคฉี่หนู ไม่ควรปล่อยไว้เป็นเวลานาน ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว

รู้ก่อน ระวังก่อน ทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคฉี่หนูกันไว้นะคะ เพราะโรคนี้มักจะระบาดในหน้าฝน แถมยังได้ฆ่าคนไทยไปหลายคนแล้ว ถือว่าเป็นโรคร้ายแรงเลยทีเดียว หากปล่อยไว้นาน อาจอันตรายถึงชีวิตได้เลยล่ะค่ะ

Leave a reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *